Kim Ji Young, Born 1982
- haveyoureadbkk
- Sep 21, 2021
- 2 min read
Updated: Sep 30, 2021

คะแนน: ★★★★☆
แปลไทย: คิมจียอง เกิดปี 1982
ในสังคมปิตาธิปไตย ทุกคนล้วนเผชิญความเจ็บปวด
อ่าน “คิมจียอง เกิดปี 1982” หนังสือขายดีของเกาหลี ผลงานของ โชนัมจู (조남주) แล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงมีแต่คนแนะนำ เพราะถึงแม้เรื่องย่อจะฟังดูคับคล้าย The Vegetarian ของ Han Kang แต่วิธีการเล่าเรื่องกลับดูแยบยล ตรงไปตรงมา และย่อยง่ายกว่ามาก เห็นด้วยกับทุกคนว่าเป็นหนังสือที่ผู้หญิงควรอ่าน ผู้ชายยิ่งต้องอ่าน!
.....เพราะนี่มันคือการเอาข้อมูลงานวิจัยเชิงสถิติมาแปลงกายไว้ในคราบนวนิยาย เพื่อหลอกเบิกเนตรชาวอิกนอแร้นท์เรื่องสังคมปิตาธิปไตยชัดๆ
ผ่านเรื่องราวในชีวิตของคิมจียอง เราจะได้พบเจอกับค่านิยมทางสังคมอันแสนแปลกประหลาดมากมาย ที่ถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลี แต่ผู้หญิงทั่วโลกสามารถเข้าอกเข้าใจและอินไปกับเรื่องราวได้
1.
เรื่องมันเริ่มขึ้นเมื่อคิมจียอง แม่บ้านวัย 33 เริ่มทำพฤติกรรมแปลกๆ โดยการเลียนแบบเป็นคนนู้นคนนี้ เปลี่ยนแปลงวิธีการพูดให้เหมือนเพื่อนสาวที่เสียชีวิตไปแล้ว เหมือนแม่ที่ไม่ได้เจอหน้ากันมานาน เหมือนป้าแก่ๆแถวบ้าน ฯลฯ แต่ในทุกตัวตนที่เปลี่ยนไป คิมจียองก็เหมือนได้ใช้ตัวตนเหล่านั้นระบายความในใจที่อัดอั้นมาแสนนานของตัวเอง เล่นเอาทุกคนเงิบกันหมด
แดฮยอน สามีของเธอ แม้ว่าจะดูเป็นคนที่แสนดีแค่ไหน สุดท้ายก็ทำได้เพียงเป็นห่วงและพาไปพบจิตแพทย์ เรื่องราวจริงๆจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อเราได้ย้อนกลับไปดูชีวิตของจียองตั้งแต่เล็กจนโต ด้วยความหวังว่าเมื่อถึงหน้าสุดท้าย เราอาจจะเข้าใจได้มากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ
2.
[หลังจากนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วน]
วัยเด็ก
เราได้เห็นแม่ของจียองที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของบ้านมาตลอด ความเสียสละทุกอย่างในฐานะคนเป็นพี่สาวและเป็นแม่ ที่นอกจากต้องทำงาน ทำงานบ้าน และยังต้องเลี้ยงลูกสามคนและแม่สามีแต่ทุกคำชื่นชมดันไปตกอยู่ที่ "พ่อ" ชายผู้ได้ชื่อว่าเป็น “หัวหน้าครอบครัว” ท่ามกลางความยากลำบากในยุคก่อร่างสร้างตัว ส่งผลให้แม่ของจียองเป็นตัวละครที่ค่อนข้างแข็งแกร่งมากในหลายๆมิติ
แต่ไม่ว่าจะแข็งแกร่งแค่ไหน แม่ของจียองก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้สังคมทำร้ายลูกๆของเธอได้ เพราะจียองในวัยเด็กเอง ก็ได้ประสบกับเรื่องแปลกประหลาดมากมาย เกิดเป็นคำถาม ทับถมขึ้นในใจเรื่อยมา
ทำไมแม้นักเรียนหญิงจะฉลาดและเรียนเก่งที่สุด แต่สุดท้ายเด็กผู้ชายกลับได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้องทุกครั้ง? ทำไมเด็กผู้ชายได้กินข้าวกลางวันก่อนผู้หญิง แต่พอเด็กผู้หญิงกินช้าเพราะได้อาหารทีหลังกลับโดนทำโทษ? ทำไมครูถึงหมกมุ่นกับการ "จัดระเบียบ" เครื่องแบบนักเรียนหญิง แต่กลับไม่ตั้งมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ครูผู้ชายฉวยโอกาสลวนลามนักเรียน?
ทำไมเวลาเกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศ เด็กผู้หญิงที่สู้กลับทั้งด้วยวาจาและการกระทำ กลับกลายเป็นผู้ที่ถูกลงโทษเพราะทำตัว “ไม่มีสมบัติผู้ดี”?
แม้แต่คำถามง่ายๆเกี่ยวกับการมีประจำเดือน ผู้หญิงทุกคนต้องทรมานอย่างน้อยเดือนละครั้ง ประชากรครึ่งโลกต้องประสบปัญหานี้เป็นประจำ ทำไมกลับไม่มีการพูดถึงเป็นวงกว้าง? ทำไมผู้หญิงต้องแบกรับค่าใช้จ่าย? นอกจากนี้ การที่ประจำเดือนเป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ ทำให้สังคมไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าเด็กผู้หญิงหลายคนต้องทรมานกับมันมากแค่ไหน โดยเฉพาะในครอบครัวที่คนเป็นพ่อ เป็นพี่ชายน้องชาย กลับไม่พยายามทำความเข้าใจในส่วนนี้
3.
วัยทำงาน
ชีวิตช่วงเข้ามหาลัยจนถึงทำงาน จียองก็ยังประสบกับความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง ช่วงจียองหางาน เรารู้สึกเจ็บปวดและกดดันไปพร้อมๆกับเธอมากที่สุด ความฝันที่จะได้งานที่ๆตามที่ใฝ่ฝันเป็นสิ่งที่เลือนรางมาก หลายบริษัทมีนโยบายการไม่รับพนักงานหญิงฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร จียองส่งใบสมัครไปร้อยใบ...เพื่อได้รับการตอบกลับประมาณไม่เกินสิบ ทะลุไปถึงรอบสัมภาษณ์ไม่เกินห้า สุดท้ายได้อะไรก็ต้องตกลงรับงานนั้นแหละ เพราะนอกจากจะไม่มีทางเลือก บัณฑิตเองก็ไม่มีแรงกายแรงใจเหลือแล้ว ...
วิธีคิดของบริษัทในเกาหลี มองว่า การจ้างงานพนักงานผู้หญิง เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าและไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะยาว เพราะต่อไปหากแต่งงาน ก็ต้องเจอกับการลาคลอด และการเลี้ยงลูกซึ่งจะกระทบการทำงานอย่างมาก (อิหยังวะนิ) อัตราการจ้างจึงต่ำกว่าแรงงานชายไปโดยปริยาย บริษัทเหล่านี้นอกจากกดรายได้พนักงานผู้หญิงแล้ว ยังแทบไม่เห้นความสำคัญของนโยบายเพื่อรองรับกับการลาคลอดให้พนักงานผู้หญิงด้วยซ้ำ และหากใครทนไม่ไหว ชิงลาออกเสียตั้งแต่เนิ่นๆเพราะทนแนวคิดและสวัสดิการแย่ๆขององค์กรไม่ไหว ก็จะได้พบกับคำพูดชวนเจ็บใจที่ว่า"เห็นมั้ยผู้หญิงไม่อดทน ไม่สู้งานเลย"(เอ๊าาาาาา)
สำหรับคนที่สู้งานต่อ การที่องค์กรมอบหมายงานยากๆให้พนักงานรุกกี้ (rookie) ผู้หญิงในช่วงแรก ก็ไม่ใช่เพราะการมองเห็นความสามารถหรือศักยภาพอะไร แต่เป็นสิ่งที่ทำต่อๆกันมาเป็นธรรมเนียมอยู่แล้วมากกว่า เพื่อไม่ให้บรรดารุกกี้ผู้ชายต้องเจอกันงานยากเกินไปจนใจฝ่อลาออกไปก่อน (ว้อท) เพราะอย่างไรเสียองค์กรก็หวังจะใช้งานพนักงานชายเหล่านี้ในระยะยาวเป็นสิบๆปีอยู่แล้ว พนักงานผู้ชายก็จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับขั้นเพื่อเพิ่มความรับผิดชอบให้ทีหลัง (คือผู้หญิงจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งในระดับสำคัญๆยากมาก) ซับซ้อนเวอร์
แต่ในตลาดที่กำลังขยายตัวตามการพัฒนาเศรษฐกิจระดับนี้ การหวังพึ่งแรงงานชายอย่างเดียวมันจะไปพอได้ไง ไม่แปลกที่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ชายชาวเกาหลีจะฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากการทำงานหนักเกินไป เคสคนตายคาที่ทำงานเกิดขึ้นในสังคมเกาหลีเยอะมาก ....ทีนี้เริ่มเห็นประโยชน์ของการปฏิบัติกับพนักงานหญิง-ชายอย่างเท่าเทียมแล้วหรือยังล่ะ?
ถ้ามีพนักงานใน workforce มากขึ้น และมีการบริหารจัดการที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย ก็จะสามารถสลับกันลาพักร้อน ทั้งยังเฉลี่ยการทำงานเพื่อไม่ให้ภาระของแต่ละคนโหลดมากเกินไป ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง ผู้ชายยังสามารถให้สิทธิลาคลอด เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้อีกด้วย พูดง่ายๆคือ องค์กรส่วนใหญ่ในเกาหลี ยังคงสนใจแต่ผลประกอบการอย่างเดียว โดยไม่มองถึงศักยภาพรายบุคคล รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจของพนักงานในแบบที่ยั่งยืนนั่นแหละ
เรารู้สึกว่าการเล่าประสบการณ์ disillusionment หรือ “ตาสว่าง” ของจียอง มันแยบยลมาก อ่านแล้วก็รู้สึกเหมือนโดนเอดูเขตไปพร้อมๆกับตัวละครในหนังสือนี่แหละ หลายโมเม้นคืออย่างกับโดนสายฟ้าฟาดกลางหัว พอตกใจปุ๊บ ก็โดนฟาดๆๆๆๆด้วยหลักฐานงานวิจัย และสถิติต่างๆที่ผู้เขียนรวบรวมไว้อีก (ทั้งจากงานวิจัยของ OECD หรือ The Economist เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้) เพื่อให้ตกใจซ้ำซ้อนว่า เห้ย นี่มันไม่ใช่แรเรื่องแต่งที่มโนขึ้นเอง มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในโลกใบนี้
4.
ชีวิตแต่งงาน
คือไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ที่ จียอง จะรู้สึกพังกับชีวิตแต่งงานขนาดนั้น เพราะในขณะที่กำลังสนุกกับงาน ชีวิตแต่งงานก็ทำให้โดนกดดันจากญาติและคนรอบข้างว่าเมื่อไหร่จะมีลูกสักที สามีของเธอก็เลยตัดรำคาญโดยการ...เออก็มีลูกไป จะได้จบๆ โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้าหรือไต่ตรองให้ดีก่อน
แน่นอนว่าคนที่ต้องเสียสละทั้งงาน สุขภาพ เงิน อนาคต คือจียอง เพราะรายได้ของเธอน้อยกว่าสามีอย่างมาก เธอไม่ได้ไปต่อ...กับงานที่กำลังไปได้สวย จากคนที่มีความภูมิใจในงาน เลี้ยงเพื่อนฝูงดูแลตัวเองได้ ก็ต้องมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกที่ไม่มีอิสระในทุกทาง สามีที่แสนดีก็เหมือนจะเข้าใจแหละ แต่ลึกๆด้วยสภาพสังคมต่างๆที่หล่อหลอมมา ทำให้เขาก็ไม่ได้เข้าใจความรู้สึกของคนเป็นผู้หญิงขนาดนั้น ว่ามันน่าอึดอัดแค่ไหน ที่ต้องสละทั้งชีวิตขนาดนี้ เพราะสำหรับเขา สิ่งเดียวที่เขานึกได้ว่าต้องเสียสละ คือเวลาที่จะได้ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนเท่านั้น โถๆๆ
5.
ในโลกทุนนิยม domestic labor ต่างๆ จะไม่ถูกนำมารวมอยู่ใน wok force ปกติ เนื่องจากในหลายวัฒนธรรม การดูแลบ้านถือว่าเป็นเรื่องในครอบครัวที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายที่ดูแลลูกอยู่แล้ว แต่การละเลย domestic labor เหล่านี้ไปเลยโดยไม่มีการตีเป็นราคาตามกลไกตลาดของระบบทุนนิยม ก็เป็นต้นตอของปัญหาอีกล้านแปด เพราะมันต้องใช้ทั้งแรงงานและเวลามากพอๆกับงานทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ใช่เป็นสิ่งที่ก่อให่เกิดรายได้ ทำให้หลายครอบครัวประสบปัญหาการขาดรายได้ในครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญมากๆ (และในหลายประเทศ maternity leave = leave without pay)
เมื่อรายได้ถดถอย สุดท้ายแม่ก็จำใจต้องทิ้งลูกตัวเองไว้กับปู่ย่าตายาย หรือ daycare เพื่อทำงานจุนเจือครอบครัว ทั้งๆที่ภาระในบ้านก็มากพออยู่แล้ว เรื่องตลกคือบางคนก็ทิ้งลูกตัวเองไว้กับพี่เลี้ยง....เพื่อมาทำงานเป็นพี่เลี้ยงลูกคนอื่นล่ะ มันน่าเศร้ามากเลย
สิ่งที่กดทับความคิดนี้อีกระดับ คือสื่อบันเทิงต่างๆที่ชอบนำเสนอความเป็นแม่ที่งดงามและไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อย สร้างขึ้นเป็นมายาคติว่าผู้หญิงทุกคนต้องสวย ดูดี และพร้อมเป็นแม่โดยไม่มีข้อกังขาใดๆ ซึ่งในความจริงมันอาจจะเป็นหรือไม่เป็นแบบนั้นก็ได้ ชีวิตแต่ละคนมีเงื่อนไขต่างกันนี่นา อย่างเช่นจียอง ที่ได้นอนเต็มอิ่มเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ความเหนื่อยล้าและท้อแท้ ทำให้เธอรู้สึกล้มเหลวในการเป็นแม่ (แต่ทำไมต้องรู้สึกว่าล้มเหลวล่ะ คนเรามันเหนื่อยกันได้นี่?)
6.
ฟางเส้นสุดท้ายน่าจะเป็นบ่ายวันที่จียอง หลังจากที่เหนื่อยจากการทำงานบ้านและเลี้ยงลูกทั้งวัน ออกมานั่งกินกาแฟในสวน เป็นเวลาที่ได้หยุดพักแค่เสี้ยววินาทีเดียวเทียบกับที่เธอต้องทนเหนื่อยมาทั้งสัปดาห์ เพียงเพื่อมาเป็นขี้ปากของพนักงานออฟฟิศผู้ชาย ว่าคนแบบจียองมันก็แค่ "ปลิงเกาะผัว" งานก็ไม่ทำยังมานั่งสบายใจจิบกาแฟราคาแพง (1500 วอน = 45 บาท) ชั้นจะไม่แต่งงานกับผู้หญิงเกาหลีเด็ดขาด
เรื่องราวดำเนินมาถึงฉากจบสุดท้าย แยบยลและเซอร์ไพรส์มาก มีความเป็นสัจนิยมสูง ใช้วิธีการนำเสนอเรื่องที่คาดไม่ถึงทีเดียว เราชอบบทสรุปแบบนี้มาก
7.
สรุป
ในหลายๆสังคม มีการวางกรอบไว้อย่างชัดเจนถึงบทบาทของหญิงและชาย ซึ่งหากลองพิจารณาดูแล้ว ทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของสังคมทั้งนั้น แต่ในความเป็นปิตาธิปไตย มันก็มีกลไกบางอย่างที่ขับเคลื่อนโดยการกดขี่คนกลุ่มนึง เป็นการตัดโอกาสในมิติต่างๆ เพื่อให้อีกกลุ่มใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายมากขึ้นแหละ ทั้งการให้คุณค่าและอภิสิทธิ์ความเป็นชาย (male privilege) ทั้งในระดับครัวเรือน สถานศึกษา องค์กรต่างๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก จนบางครั้งทุกคนเข้าใจผิดและมองเป็นความธรรมดาไปได้
การตระหนักรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ในการพัฒนาสังคมไปในทิศทางทีเหลื่อมล้ำน้อยลง และมีความเป็นมนุษย์เท่ากันมากขึ้น เช่น ถ้าปรับให้รายได้ผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสและเพิ่มพนักงานใน workforce มากขึ้น ซึ่งเป้นผลดีต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรในระยะยาว หรือจะเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้มีวันหยุดมากขึ้น ผู้หญิงใช้ maternity leave ส่วนผู้ชายก็สามารถใช้สิทธิ์ paternity leave เพื่อหยุดงานและช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้ ก็จะสามารถสลับบทบาทกันไปทำตาม career path ของตัวเอง ควบคู่ไปกับการหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องมีคนนึงเสียสละทุกอย่างจนเป็นเสีบสติ ส่วนอีกคนก็ทำงานหนักจนโดดตึกตาย เป็นต้น
ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเล่มบางๆเล่มนี้ จะอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาที่ชวนให้ตระหนักรู้ หรือครุ่นคิดกลั่นกรองออกมาเป็นประเด็นได้ไม่รู้จบมากมายขนาดนี้ หากใครยังไม่เคยอ่าน เราขอแนะนำมากๆค่ะ
Comments