top of page

หนังสือพามา: Little Women การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คือการทิ้งวันคืนที่แสนดีไว้เบื้องหลัง

  • haveyoureadbkk
  • Oct 7, 2021
  • 2 min read

ตอนเด็กๆที่อ่าน Little Women รู้สึกว่ามันน่ารักนุบนิบ wholesome มากเลย เหมาะกับช่วงคริสมาสที่ทุกคนอยู่พร้อมหน้ากัน แถมเราโตมากับหนังฉบับปี 1994 ที่ วิโนนา ไรเดอร์ แสดง ซึ่งมันเข้าตีมคริสมาสสุดๆ ดูแล้วก็รู้สึกว่ามันน่ารักอบอุ่นมาตลอด


ก่อนอื่นเลยต้องเล่าว่า Little Women เป็นนิยายคลาสสิคของลุยซ่า เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) แต่ขอไม่พูดถึงรายละเอียดเยอะ ค่อยยกไปเล่าในโพสที่เกี่ยวข้องกับการรีวิวหนังสือ ด้วยความที่เรื่องราวมันอยู่คู่กับอเมริกันชนมานาน จึงมีการเอามาดัดแปลงเป็นภาพยนต์/การ์ตูนกลายครั้ง เวอร์ชั่นที่คน(รุ่นเรา) น่าจะคุ้นเคยที่สุดน่าจะเป็นฉบับปี 1994 แต่เหมือนจะมี miniseries ของ BBC ออกมาด้วยในปี 2017 เหมือนคนจะไม่ค่อยรู้จัก มี Maya Hawke (โรบิน จาก Stranger Things) แสดงเป็นโจ และมีแบบการ์ตูนอนิเมชั่นของทางญี่ปุ่น เคยทำไว้ด้วย ภาพน่ารักมากๆ


ฉบับปี 1994 มีความคริสมาสสุดพลัง
Miniseries ของ BBC ที่ดูโทนภาพก็ละมุนมาก แต่ยังไม่เคยดูค่ะ











[Note: ฉบับ1994 รวมดาวสุดๆ วิโนนา ไรเดอร์ เป็นโจ, ซูซาน ซาแรนดอน เป็นมามี่, แคลร์ เดนส์ เป็นเบธ, ทรีนี อัลวาราโค เป็นเม็ก, และคริสเท่น ดั๊นสท์ เล่นเป็นเอมี่ตอนเด็กได้ดีมาก (น่าตบมาก) ชอบที่แยกบทเอมี่ตอนเด็กกับตอนโต ให้ความรู้สึกสมจริงดี]


จนมีฉบับทำใหม่ปี 2019 ของเกรต้า เกอร์วิคนี่แหละ ที่อาจจะเพราะเกอร์วิคเอามาตีความใหม่ด้วย หรือเพราะเราโตขึ้นด้วย กลับรู้สึกว่าเฮ้ย...นี่มันเรื่องเศร้าชัดๆ 555 ใจฟูก็จริง แต่น้ำตาตกใน ซึมลึกเวอร์ ดูทีไรก็ร้องไห้ทุกรอบ มันเกิดอะไรขึ้นกับเรากันนะ 555

คือโดยเนื้อแท้ Little Women มันก็คือเรื่องราว coming of age อันว่าด้วยการเติบโตจากวัยหนึ่ง สู่อีกช่วงวัยหนึ่งนั่นแหละ แต่เมสเสจมันก็ชัด ว่าการโตเป็นผู้ใหญ่มันไม่ได้สวยงาม มันคือ loss of innocence ชีวิตล้วนเต็มไปด้วยอุปสรรคให้ก้าวข้ามผ่าน ความสูญเสีย ความผิดหวัง ความสิ้นหวัง และความไม่โรแมนติกแบบนี้เอง

เราเองก็เหมือนหลายๆคน คือชอบ โจ มาตลอด เป็นคนที่ทั้งเก่งและไม่ยอมรับกับขนอบใดๆ (เหมือนเป็นภาพสะท้อนของ ลุยซ่า เมย์ อัลคอตต์ ยุคนั้นแหละมั้ง) การที่โจ สามารถยืนหยัดที่จะทำสิ่งที่รัก และสามารถพิสูจน์ทุกคนบนโลกให้เห็นได้ด้วยการใช้ความฝันของตัวเอง ที่อยากจะเป็นนักเขียน (การเป็นนักเขียนหญิงยุคนั้น เป็นอะไรที่ยากมากก) แบกครอบครัวไว้บนบ่าจนตลอดรอดฝั่งเป็นอะไรที่เท่มากๆ และในชีวิตจริง อัลคอตต์ก็เลี้ยงพี่สาวน้องสาวตัวเอง (ที่มีกันสี่คน และอัลคอตต์เป็นลูกคนที่สอง เหมือนโจ) ได้ด้วยงานเขียนเหมือนกัน เป็นความโคตรจะ badass


และก็เหมือนหลายๆคน คือเราไม่ชอบเอมี่ ยัยน้องเล็กที่แสนจะ (โคตร) น่ารำคาญและเหมือนจะทำร้ายทำลาย โจ (ทั้งตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ) อยู่ตลอด ทั้งเรื่องเอานิยายไปเผา หรือเรื่องขโมยความฝันโจโดยการไปทริปยุโรป เรื่องลอรี่อีก เอมี่เป็นตัวละครที่เราไม่ได้รู้สึกยินดียินร้ายกับความสำเร็จในเรื่องเท่าไหร่ เป็นเด็กเอาแต่ใจคนหนึ่ง


แต่ฉบับหนังปี 2019 เกรต้า เกอร์วิค ช่วยเปิดพื้นที่ เปิดมุมมองที่ช่วยทำให้เราเข้าใจสองคนนี้มากขึ้นเยอะ การเพิ่ม "เสียง" ของเอมี่มากขึ้นในหนัง ทำให้เข้าใจตัวตนของน้องเล็กมากขึ้นเยอะ ซึ่งมันเลยทำให้ราเข้าใจบริบทของสมาชิกบ้านมาร์ชเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ในสายตาเอมี่ โจเป็นที่หนึ่งตลอดในหลายๆเรื่อง ทั้งสกิลการเขียนที่เก่งกาจ (เทียบกับสกิลวาดรูปที่ธรรมดาๆของตัวเอง) ทั้งเรื่องลอรี่ (ที่แสนดีและรักโจ แต่โจไม่รับรัก) ทั้งเรื่องความรักในครอบครัว (อย่างน้อยในหนังจะเห็นว่า โจ สนิทกับแม่ที่สุด และตัวติดหนึบกับเบธตลอดเวลา) ทั้งการเป็นหัวโจกในกลุ่มเพื่อนๆ คือในสายตาเอมี่ เธอสู้โจไม่ได้เลย สักอย่าง คงเป็นความอิจฉาปนน้อยใจแบบเด็กๆ

และด้วยเหตุนี้เอง มันเลยทำให้ความเข้าใจบางอย่างของเราเปลี่ยนผันไป ถึงโจ จะดูเป็นตัวเอกที่ลำบากและเราอดเอาใจช่วยไม่ได้ แต่พอหันมามองอีกครั้งตอนนี้คือ โจ ก็ไม่ใช่คนแสนดีอะไร ความเก่งกาจทำให้มีนิสัยทะนงตน และหลายอย่างในชีวิตที่มันผิดหวัง โจ ทำตัวเองด้วยซ้ำ (เช่น ถ้าทำดีกับป้ามาร์ชแต่แรก ยังไงป้าก็พาไปทริปยุโรปด้วยอยู่แล้วรึเปล่า ถ้าพูดกับน้องดีๆน้องคงไม่เอานิยายไปเผาทิ้งรึเปล่า) และที่สำคัญ โจเป็นคนที่แสนจะกินอุดมคติแทนข้าว ยอมหักไม่ยอมงอในทุกๆเรื่อง (เช่น ถ้าไม่ใช่งานที่รักจะไม่ทำ เข้าหาผู้ใหญ่ไม่เป็น ไม่รักจะไม่แต่งงาน จะต้องทำงานเลี้ยงตัวเองให้ได้ ฯลฯ) ดูโจแล้วเหมือนเห็นตัวเองตอนเด็กแบบสุดพลัง เลยทำให้ตอนนี้เราไม่ค่อยชอบโจแล้ว 555

เรารู้สึกว่าฉากบทพูดที่เอมี่ คุยกับลอรี่ ที่ฝรั่งเศส มันสะท้อนค่านิยมของผู้หญิงในยุคนั้นได้ดีมากๆเลย กับการแต่งงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีสถานภาพในสังคม และมีเสถียรภาพทางการเงิน มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ monologue ที่แสนทรงพลังของเอมี่ ยังสะท้อนความเป็นตัวเธอที่อยู่คนละขั้วกับโจสุดๆ เอมี่เป็นสัจนิยมมากในการใช้ชีวิต ทะเยอทะยานในแบบที่โจทำไม่ได้ และก้มหัวยอมรับความพ่ายแพ้อย่างผ่าเผย ใช่ ชั้นวาดรูปไม่เก่ง เพราะงั้นต้องได้ผัวรวยๆไม่งั้นครอบครัวจะลำบาก! แล้วยังไงล่ะ! ฯลฯ เอาจริงๆ ความคิดบางอย่าง อาจจะโตกว่าโจด้วยซ้ำ


การที่เพิ่มบทเข้ามาให้เอมี่ พูดโต้งๆว่าแอบรักลอรี่มานานแล้ว ทำให้เรื่องดูกลมกล่อมและเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เพราะเอาจริงถ้าเอมี่เข้าใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตมากพอ ก็น่าจะเลือกแต่งงานกับ เฟร็ด วอห์น ที่ร่ำรวยกว่าลอรี่ (และเขาก็ชอบเอมี่มาก ๆ ด้วย) ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตระกูลมาร์ช และในฉบับนิยาย เหตุผลเดียวที่เอมี่ลงเอยกับลอรี่ เพราะอัลคอตต์ไม่อยากให้แฟนๆนิยายมาชิปคู่โจ-ลอรี่อีก (อัลคอตต์ไม่อยากให้โจคู่กับใครเลยด้วยซ้ำ แต่สุดท้าย บก.ไม่ยอม ซึ่งเดี๋ยวจะกล่าวถึงในบทต่อไป) คือยังไงก็จะไม่ให้สองคนนี้คู่กัน เลยจับคู่ให้เอมี่เพื่อเป็นการตัดบทไปเลย ไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้ว แต่โดยรวม arc นี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากโจแล้ว เอมี่ มาร์ช ก็มีอุดมคติในแบบของตัวเองที่ชัดเจนไม่แพ้กัน

ถ้าจะมีใครอุดมคติมากๆอีกคนในบ้าน คงไม่พ้น เม็ก แต่เป็นอุดมคติคนละแบบกับโจและเอมี่อีกนั่นแหละ เป็นเรื่องของความรักที่เหมือนโลกนิยาย เม็กก็น่าสงสาร แต่งงานกับคนที่ตัวเองรักแต่บ้านจนมาก และต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ต่างจากตอนเด็กๆที่เคยใฝ่ฝันไวว่าอยากเป็นคุณนาย เราว่าฉากที่เม็กบอกโจประมาณว่า "ฝันไม่เหมือนกันใช่ว่ามันจะไร้ค่า" มันล้ำลึกมาก เพราะเม็กบอกโจ แต่คนดูอะจุกแทน 555 บอกตรงๆเราเป็นคนไม่อินกับการแต่งงานเลยด้อยค่า arc ของเม็กมาตลอด ว่าทำแบบนั้นแบบนี้ไปทำไม ความรักอย่างเดียวไม่พอยาไส้หรอก แต่สุดท้ายก็เหมือนจะเข้าใจมุมมองของเม็กมากขึ้น (มั้ง)

ดูกี่ทีก็สงสาร เบธ ผู้เป็นอินโทรเวิร์ทประจำบ้าน เหมือนจะเป็นคนที่คอยเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างเงียบๆ เป็นกาวที่ประสานครอบครัวเอาไว้ด้วยกัน ซื่อสัตย์ ไม่หวือหวา แค่อยากใช้ชีวิตเรียบง่ายกับคนที่รักไปตลอด อุดมคติของเบธคือโลกที่บ้านมาร์ชอยู่ด้วยกันตลอดไป คงเพราะความซื่อสัตย์นี่แหละมั้งที่ทำให้เบธต้องป่วยหนักตั้งแต่แรก เบธเล่นเปียโนเก่งมากๆ และฉากที่ปู่ของลอรี่ยกเปียโนให้ ทำเอาน้ำตาไหลเป็นสาย ความจริงอะไรที่เป็น interactions ระหว่างสองคนนี้ ทำเราร้องเหมือนคนบ้าตลอด เหมือนเป็นคนแปลกหน้าสองวัยที่จูนกันติดแล้วผูกพันเหมือนพ่อลูกอะ


เราชอบคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเบธ เปลี่ยนตัวตนลึกๆของโจ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราอยากเชื่อว่ามันผลักดันให้โจเป็นนักเขียนที่ดีขึ้น เพื่อจะดูแลทุกคนที่รักให้ดีกว่านี้ หรืออย่างน้อยก็ลดอีโก้ในการทำอะไรหลายๆอย่างในชีวิตเพื่อคนอื่นได้บ้าง

ตัดสินใจแล้วว่าชอบ ลอรี ฉบับของทิโมธี ชาลาเมต์ มากกว่าคริสเตียน เบล (ย้อนกลับไป รู้สึกว่าเวอร์ชั่นนั้น ลอรีลงเอยกับเอมีแล้วดู creepy 555 น่าจะเพราะสายตาที่ดู intense ของเบล) ทิโมธี ชาลาเมต์ อาจจะเด็กไปหน่อย แต่ด้วยสายตาและท่าทาง เลยทำให้ดูเป็น melancholic boy ที่ดูเหงาและว่างเปล่ามากจริงๆ ไม่แปลกใจที่ลอรีจะรักโจ เพราะบ้านของโจเต็มไปด้วยความอบอุ่น ในแบบที่ลอรีไม่มี คือมันก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งด้วยที่เรารู้สึกว่า ลอรีไม่ได้รักโจอะ คือรักแบบผูกพันเพื่อนกันตลอดไปมันก็ใช่ แต่ลึกๆคือรักครอบครัวมาร์ช รักคอนเซปต์ความครอบครัวของบ้านมาร์ช รักในบรรยากาศและความรู้สึก คืออยากเป็นส่วนหนึ่งของบ้านนี้จริงๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม อาจจะฟังดูใจร้าย แต่การลงเอยกับเอมี่คงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลอรี่แล้ว


เราชอบที่ โจ คงความเป็นตัวเองเอาไว้จนถึงที่สุด และถึงแม้มันจะมีบางโมเม้นที่รู้สึกเสียดายหรือพ่ายแพ้ (เช่นเรื่องลอรี เราชอบ monologue ของโจที่พูดเรื่อง I want to be loved มาก) มันก็ดูเรียลสุดๆ กับการที่มี self-doubt เกิดขึ้นในใจในวันที่แย่ แต่ในทุกๆครั้ง โจก็ค้นพบว่าสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขได้มันเป็นอะไรที่ต่างจากคนอื่น หรือสิ่งที่นอกเหนือจากกรอบที่ตีไว้ แม้จะยังไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรก็เถอะ โจมีความขัดแย้งและซับซ้อนในใจจากสังคมรอบข้าง และพยายามจะต้านขนอบเหล่านั้นมาตลอด ถ้าอัลคอตต์ล้ำยุคขึ้นมาหน่อย เราจะไม่แปลกใจด้วยซ้ำถ้ามาเผยทีหลังว่าโจเป็น queer

ดีใจที่จบแบบใหม่ แบบคิดได้สองแบบ เราเลือกที่จะคิดว่า โจ ไม่ได้ลงเอยกับ ศจ. แหละ (เพราะมันแบบ เห้ย อะไรวะ มันเหวอในแง่ของคาแรคเตอร์ของโจมากๆ - ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าข้างบน) และทั้งหมดมันเป็นเรื่องนิยายที่โจแต่ง ซึ่งในความเป็นจริง อัลคอตต์ ก็แค่เขียนเผาๆไปให้ บก. สบายใจด้วยซ้ำว่าโจมีคู่เท่านั้นแหละ แถมยังประชดด้วยว่า ศจ. แบร์ ทั้งแก่และน่าเกลียดสุดๆ ฉบับหนังเลือกคนฮอตมาแสดงอาจจะเพราะสงสารคนดู/อ่านน่ะ


อีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่พูดถึงไม่ได้ คือการที่เกอร์วิค deconstruct เส้นเวลาของเรื่องใหม่ทั้งหมด และเล่าโดยการแบ่งเป็น before/after เหตุการณ์ที่ทุกคนยังมีกันและกัน และสิ่งที่เกิดขึ้น 7 ปีหลังจากนั้น ถูกนำมา contrast ด้วยโทนสีอบอุ่นของฤดูร้อน (อดีต) และโทนสีเย็นของฤดูหนาว (ปัจจุบัน) มันทำให้ยิ่งแจ่มชัดว่า good old days มันผ่านพ้นไปแล้ว และ (ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าข้างบน) แปลว่าในความเป็นจริง โจ เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จและไม่ได้ลงเอยกับ ศจ.แบร์ เพราะโทนสีในตอนท้ายเป็นสีเย็น อันเป็นตัวแทนของปัจจุบัน เป็นความคิดของเราเอง


ใดๆคือ Little Women สำหรับเรามันเหนือกาลเวลามาก และจากเรื่องราวในวันคริสมาสอบอุ่นในวัยเด็ก กลับกลายเป็นสิ่งที่เจือความขมแบบไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไปเลยในปัจจุบัน หากความเป็นผู้ใหญ่คือการอ้าแขนยอมรับความเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ เด็กสาวตระกูลมาร์ชก็ได้พบกับบททดสอบเหล่านั้นไม่ต่างจากพวกเราทุกคน และแม้จะพยายามยึดเหนี่ยววันคืนที่แสนดีไว้แน่นแค่ไหน ณ จุดหนึ่งมันก็ย่อมหลุดลอยไป หรือจำใจต้องปล่อยมันไว้เบื้องหลัง บทเรียนชีวิตบทนี้มันแอบซึมลึกสำหรับเราด้วย เพราะเราเป็นลูกคนเดียวเหงาๆเหมือนลอรี อินโทรเวิร์ธเหมือนเบธ หัวขบถแบบโจ ช่างฝันแบบเม็ก แต่สังคมหลอมให้เราเป็นคนจริงแบบเอมี่ ทุกอย่างมันเลยผสมๆปนเป เป็นเรื่องราวชีวิตหม่นๆ ที่ทำให้นึกถึง good old days ของตัวเอง เส้นทางที่เลือกเดิน อะไรแบบนี้

Commentaires


Subscribe Form

Thanks for submitting!

  • Facebook
  • Instagram
  • Twitter

©2021 by Haveyouread.BKK. Proudly created with Wix.com

bottom of page