Normal People
- haveyoureadbkk
- Nov 10, 2019
- 2 min read
Updated: Oct 17, 2021

คะแนน: ★★☆☆☆
แปลไทย: coming soon
เล่มนี้ถ้าไม่ชอบก็จะเกลียดไปเลย ไม่มีตรงกลาง แล้วใครอยู่ทีมไม่ชอบเล่มนี้น่ะเหรอ? ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ
ความจริงปัญหาที่เรามีกับเล่มนี้ก็ไม่ใช่อะไรใหญ่โต แต่เหมือนเป็นจุดเล็กๆที่พอเอามารวมกันแล้ว ทำให้รู้สึกหงุดหงิดกับมัน(โคตรๆ)เลยมากกว่า เป็นประสบการณ์การอ่านที่เหนื่อยมาก ทรมานใจกับทั้งตัวละครที่สุดจะเห็นแก่ตัว น่าเบื่อ ไร้พัฒนาการ และพลอตเรื่องที่สุดเนิบช้า วนไปวนมาไร้ทางออก อาจจะเป็นเพราะตัวละครชอบคิดไปเอง แต่ไม่พยายามสื่อสารหรือทำอะไรสักอย่างจริง ๆ ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป แถมเขาว่ากันว่าเล่มนี้เป็น voice of our generation .... เรามีปัญหานะ เราว่าเจนเราไม่เหลาะแหละเท่าสองคนนี้นะ
1.
Normal People ผลงานจาก Sally Rooney นักเขียนสาวชาวไอริชวัย 30ปี (ผู้เขียนเรื่อง Conversation with Friends ที่ทำเอาดังเป็นพลุแตกไปเมื่อปี 2017) เล่มนี้เป็นที่กล่าวขานในหมู่หนอนหนังสืออย่างมาก เราหยิบมาพลิกไปพลิกมา เผลออ่านรวดเดียวจบเฉยเลย ในแง่ของสำนวนภาษาก็อ่านได้ลื่นไหลดี แถมยังไปแตะประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นทีเดียว แต่ถามว่าสนุกมั้ย ก็ตอบได้ไม่เต็มปากเพราะความรู้สึกมันชวนให้สับสนมาก
คำที่เหมาะกับเล่มนี้คือ "bleak " มันเหี่ยวเฉา อ้างว้าง เยือกเย็น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี เพราะบางครั้งถ้ามีองค์ประกอบอื่นเข้ามาช่วย จะทำให้หนังสือมีเสน่ห์มาก (i.e. ตำนานที่ยังมีลมหายใจ A Little Life) แต่กับเล่มนี้ สิ่งที่ทำให้ไปต่อแทบไม่ได้หลายครั้งคือตัวละคร ตัวเอกทั้งสองคนน่าเบื่อมากกกกกก พูดจาก็น่าเบื่อ พูด I don’t know แล้วก็ยักไหล่ยึกยักไอด้อนแคร์โคตรบ่อย เหลาะแหละจังอะพี่ บรรยากาศค่อนข้างจืดชืดเหมือนอาหารที่เอาออกมาวางตากแอร์ไว้ครึ่งค่อนวัน เศร้าๆนะ
2.
มาริแอนน์ (Marianne) กับคอนเนล (Connell) เป็นเด็กวัยรุ่นสองคนที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างประหลาด เพราะถึงแม้โลกของทั้งสองจะแตกต่างกันมาก แต่ฟ้าก็ลิขิตให้แม่ของคอนเนลมาเป็นคนทำความสะอาดบ้านของมาริแอนน์ ทั้งสองเลยมีโอกาสได้คุยกันนอกโรงเรียน กลายเป็นโลกอีกใบที่ทั้งคู่สร้างขึ้นมา ซึ่งในบริบทนี้คือเป็นโลกอีกใบจริงๆ เพราะคอนเนลกำชับอย่างมากกับมาริแอนน์ว่า ตอนอยู่รร.ห้ามทำท่าเหมือนรู้จักกันเป็นอันขาด what a *ick
สืบเนื่องมาจากมาริแอนน์เป็นคนประหลาด พูดจาแปลกๆ หน้าตาก็ธรรมดา (มันมาอีกละ trope ชวนกลอกตา 1: นางเอกที่ ”หน้าตาธรรมดา” แต่ไปๆมาๆความจริงคือสวย สุดท้ายมีคนรุมจีบยาวเป็นหางว่าว) ผิดกับคอนเนล ผู้เป็นนักกีฬาโรงเรียนที่ใครๆก็ชื่นชอบ (trope ชวนกลอกตา 2: พระเอกเป็นป๊อบปูลาร์นักกีฬาแบดบอยสุดหล่อ) แน่นอนว่าความสัมพันธ์ของสองคนคือลุ่มๆดอนๆมาก มีแรงดึงดูดต่อกันและกัน แต่อยู่ด้วยกันทีไรก็ชวนกันลงเหวทั้งคู่ คนอ่านก็ปวดตับ นอกจากจะไม่รู้สึกถึงความโรแมนติกเลยไม่พอ ยังชวนคนอ่านเบะปากอีกด้วยด้วยคำพูด และการกระทำหลายอย่างที่มันสุดจะย้อนแย้ง
เอาง่ายๆ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ เป็นความรักแบบคนที่กลัวเหงา แต่ไม่รู้ตัวเองต้องการอะไรกันแน่กับชีวิต เลยคว้าในสิ่งที่ไม่ทำให้ตัวเองเศร้าไว้แน่นโดยไม่นึกถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย เอาตัวเองสบายใจไว้ก่อน เป็นความ toxic lvl99 ไปอ่านเอง
จนเรียนจบมัธยม ทั้งคู่ได้เข้าเรียนที่มหาลัยทรินิตี้เหมือนกัน (Trinity College คือมหาวิทยาลัยไฮโซที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ให้ลองนึกภาพเคมบริดจ์) ซึ่งกลายเป็นว่าไดนามิกมันเปลี่ยน คนแปลกอย่างมาริแอนน์ที่ชอบพูดอะไรแปลกๆดันกลายเป็นชิค มีสไตล์เป็นของตัวเอง เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆที่มาจากสังคมคนรวยเหมือนกัน ส่วนคอนเนลกลายเป็นไอ้บ้านนอกลูกแม่บ้าน แน่นอนว่าช่วงเวลานี้คือความท้าทายต่ออัตลักษณ์ของเขาอย่างใหญ่หลวง ความสัมพันธ์ของทั้งสองโคจรรอบกันและกัน ชีวิตของทั้งสองที่แสนจะหลงทางและเปลี่ยวว้างไม่ต่างกัน จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามอ่านกันต่อไป
Marianne had the sense that her real life was happening somewhere very far away, happening without her, and she didn't know if she would ever find out where it was or become part of it.
3.
ประเด็นคือ เรื่องมันให้ความรู้สึกเหมือน One Day ของ David Nicholls มากๆ แต่ความสนุกนี่คนละเรื่องกันเลย เนื้อหาเล่มนี้หนักกว่าเพราะมาริแอนน์เอาจริงคือเก็บกด ปวดตับมาก (จนบางครั้งคนอ่านก็อยากถามว่า มาริแอนน์ _ึงเป็นเชี่ยอะไร) แต่อ่านไปก็จะเริ่มเห็นภาพมากขึ้นว่า เนี่ย ครอบครัวมีปัญหานะเลยมีปมด้วย เธอเป็นคนไม่เข้าใจคำว่ารัก ชีวิตเลยชอบประสบกับความฉิบหาย เพราะแยกความรุนแรงกับความรักไม่ออก ชีวิตถูกกดขี่บงการด้วยมนุษย์เพศชายมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะจากพี่ชายที่เป็นโคตรผีบ้า ไปจนถึงแฟนหนุ่มแต่ละคนที่เธอเลือกคบก็ท็อปฟอร์มทั้งนั้น
อ๋อ พูดถึงคนที่มาริแอนน์เลือกคบ คอนเนลเองก็เป็นผีบ้าเหมือนกัน แต่ผีบ้าคนละประเภทกับผู้ชายอื่นในชีวิตของมาริแอนน์ (จนบางครั้งคนอ่านก็อยากถามว่า คอนเนล _ึงเป็นเชี่ยอะไร) เอาเป็นว่าคอนเนลเป็นคนโทนสีเบจอันแสนน่าเบื่อ โคตรไม่น่าจดจำ จำได้แต่ว่าหล่อ เพราะในหนังสือ คนเขียนย้ำบ่อยมาก (มากๆๆๆ) ว่าคอนเนลหล่อ-มาริแอนน์สวย ย้ำจนอยากจะส่งเมลไปบอกว่ารู้แล้ว! เดี๋ยวปั๊ด
4.
ส่วนตัวยังไม่ค่อยเข้าใจ hype ของหนังสือเล่มนี้เท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นพลอตที่ชวนปวดตับทั้งเล่ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแย่ ถ้าองค์ประกอบดี แต่สำหรับเล่มนี้ แม้แต่ในแง่ของสไตล์การเขียนยังเหลาะแหละเลย มีการตัดบทสนทนาไปมาจนรู้สึกสับสนว่าสรุปใครเป็นคนพูดอะไรยังไงกันแน่ (รูนีย์เลือกที่จะเขียนบทสนทนาโดยไม่ใส่เครื่องหมายอัญประกาศ ซึ่ง) จนต้องกลับไปอ่านวนไปวนมาสามรอบ ไปจนถึงสำนวนที่ค่อนข้างแปลกเหลือประมาณจนอยากเห็นหน้าบรรณาธิการจังอะ ใช้คำพร่ำเพรื่อในแบบที่มันไม่ได้ทำให้สำนวนสละสลวยขึ้น แถมบางช่วงตอน บทจะใช้รูปประโยคอดีตก็ใช้ แล้วไปๆมาๆก็ใช้รูปปัจจุบัน งงว่าสรุปพูดเรื่องสมัยไหนแน่นะ (ก็งงไปเลยนะว่าเราโง่ภาษาอังกฤษหรอ เราไม่เก็ทรึเปล่า แต่ก็ไม่ มีรีวิวฝรั่งหลายคนเขาคิดเหมือนเรา เราไม่ได้คิดไปเอง)
เราเข้าใจว่า ถ้าบางคนชอบเรื่องราวที่มันอึดอัด หว่อง บรรยากาศอึมครึม อาจจะชอบโทนเรื่องนี้ เป็นบรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนแบบเกาะบริเตน ที่อ่านไปบางทีก็หายใจไม่ออก เบื่อความไม่พัฒนาของตัวละคร (หมายถึงนิสัย) บทสนทนาก็น่าเบื่อ จุดที่ควรจะเป็นอะไรที่เฉียบคมเรียกรอยยิ้มคนอื่นก็จืดชืดมากเหมือนกินซุปเย็นๆ เราเข้าใจความโศกตรมหนักหน่วงของตัวละครมากเลยที่ต้องมีชีวิตในบรรยากาศแบบนี้ แต่ที่ว่าน่าเบื่อสุดท้ายก็อ่านจนจบนะ เพราะก็ลุ้นแหละว่าทั้งคู่จะตัดสินใจผิดอีกกี่รอบกว่าจะหมดเล่ม
5.
จุดที่น่าสนใจคือการที่มีประเด็นทางสังคมเข้ามาเกี่ยวโยงกับเนื้อหาหลักเยอะมาก เลยทำให้มีสีสันขึ้นมาหน่อย หนังสือเล่นประเด็นสังคมมาตั้งแต่เรื่องชนชั้นของมาริแอนน์และคอนเนลที่ต่างกัน ทำให้ทั้งคู่มีประสบการณ์ชีวิตที่มหาวิทยาลัยทรินิตี้แตกต่างกัน เพราะพวกลูกคนรวยก็จะมีสังคมกลุ่มเพื่อนที่ค่อนข้างฉาบฉวยกว่ามาก เทียบกับคอนเนลที่แทบจะไม่มีเพื่อนเลยด้วยซ้ำ (แต่เพื่อนที่มีอยู่ก็ดีมาก) รวมไปถึงแนวคิดต่างๆ ของพวกเด็กๆที่จะต้องโตไปเป็นชนชั้นนำในสังคม แต่กลับฉาบฉวย ตื้นเขิน อิกนอแร้นท์ พูดจาเหยียดเชื้อชาติได้แบบไม่สะอึก เหยียดเพศได้แบบตาไม่กระพริบ
จะว่าไป เล่มนี้เล่นประเด็นเรื่องเพศหลายอย่าง ชัดสุดเลยคือการที่มาริแอนน์เป็นมาโซคิสท์ รสนิยมทางเพศก็นำพาให้เธอเจอแต่คนแปลกๆ ซึ่งสะท้อนความเป็นสังคมแบบ patriarchy ที่แท้ทรู การที่มาริแอนน์รู้สึกจำยอม เปลี้ยข้าง นอนหงายยอมแพ้ศิโรราบสู้อะไรกับมันไม่ได้เลย ก็ทำให้รู้สึกอึดอัดและหดหู่มาก จนมาริแอนน์โดนดึงดูดเข้าไปติดอยู่ในวังวนแห่งการทำลายตัวเองตลอด และไม่สามารถหาทางออกมาได้ ซึ่งมันก็น่าเศร้าจริงๆ และเศร้ายิ่งกว่าคือสุดท้ายก็ไม่มีใครที่พร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเธออย่างจริงจัง แม้แต่คอนเนลที่น่าจะเข้าใจเธอมากที่สุดก็เถอะ
จุดที่น่าเสียดาย คือ มันก็เหมือนหลายๆประเด็นที่หนังสือพยายามจะสื่อ ทั้งเรื่องโรคซึมเศร้า หรือปัญหาทางจิตใจ เพศ ชนชั้น มันน่าสนใจและมีศักยภาพที่จะเสริมให้เรื่องลึกซึ้งมากๆ แต่ปรากฏว่าไม่มีปมไหนไปสุดสักทาง คือพอเห็นภาพรางๆว่าพูดถึงอะไร แต่ก็ไม่พยายาม explore ต่อให้ถึงแก่น เหมือนเขียนๆไปแล้วโดนเบยความสนใจไปเรื่องอื่น (เช่นเรื่องโรคซึมเศร้า ปูมาดีมาก สุดท้ายก็ไม่ได้ไปไหนต่อ งง) เหมือนโดนทิ้งไว้กลางทางในทุกๆประเด็น อาจจะล้อกับความรู้สึกเหลาะแหละโลเลของตัวละครรึเปล่า อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่มันน่าหงุดหงิดมาก
6.

ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักเรื่องนี้เยอะน่าจะเป็นเพราะเอามาทำเป็นซีรีย์ของช่อง HULU และนักแสดงที่รับบทมาริแอนน์ กับคอนเนล คือเคมีเข้ากันดีมาก ถ้าใครสนใจก็ลองไปหามาดูกันได้ แถมในปี 2021 กำลังจะมีฉบับแปลภาษาไทยออกมาให้อ่านกันด้วยแหละ
สรุปเลยแล้วกันสำหรับเล่มนี้ เราอ่านแล้วรู้สึกว่าภาษาอ่านง่ายจริงๆ เรื่องดำเนินไวมาก วิธีการเล่าเรื่องก็ค่อนข้างน่าสนใจ เหมือนได้รับรู้เรื่องราวของคนสองคน....แต่ดันเป็นคนสองคนที่ ณ จุดหนึ่ง เราไม่แคร์ว่าจะเป็นตายร้ายดียังไงเพราะน่าเบื่อ เหลาะแหละ เห็นแก่ตัวทั้งคู่ คืออ่านได้แบบเพลินๆ แต่อย่าคาดหวังว่าจะได้อะไรมาก การพัฒนาของตัวละครแทบไม่มีเลย ปมที่ยกขึ้นมาก็จบลงแบบงงๆ ถ้าไม่อ่านเราว่าก็ไม่ได้พลาดอะไรมากนะ
ถ้าชอบอ่านแนวนี้:
One Day | David Nicholls
Fates and Furies | Lauren Groff
The Idiot | Elif Batuman
Comentarios